วันพฤหัสบดีที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2554

ยอดเขาเอเวอเรสต์

 

ยอดเขาเอเวอเรสต์

 
ยอดเขาเอเวอเรสต์
Sagarmatha ck Oct18 2002.jpg
ยอดเขาเอเวอเรสต์เมื่อมองจากยอดเขากาฬปัตตาร์(Kala Pattar)
ความสูงจากระดับน้ำทะเล8,844.43 เมตร (29,017 ฟุต)
อันดับ 1 ในบรรดายอดเขาแปดพันเมตร(Eight-thousander)
พิกัดภูมิศาสตร์:27°59′17″N, 86°55′31″Eพิกัดภูมิศาสตร์: 27°59′17″N, 86°55′31″E[1]
ที่ตั้ง:พรมแดนระหว่างประเทศเนปาลและทิเบต
เทือกเขา:หิมาลัย
การไต่ขึ้นสู่ยอดเขาครั้งแรก(first ascent) :โดย เซอร์เอดมันด์ ฮิลลารี (Edmund Hillary) และ เตนจิง นอร์เก (Tenzing Norgay)
ในวันที่ 29 พฤษภาคม ค.ศ. 1953
เส้นทางปีนเขา(climbing route) ที่ง่ายที่สุด:จากเซาท์โคล(South Col) ประเทศเนปาล
ยอดเขาเอเวอเรสต์ (อังกฤษ: Mount Everest) เป็นยอดเขาหนึ่งในเทือกเขาหิมาลัย ซึ่งเกิดจากการชนกันของแผ่นเปลือกโลกยูเรเซียนและแผ่นเปลือกโลกอินเดีย ในทางภูมิรัฐศาสตร์ ยอดเขาเอเวอเรสต์ถือเป็นจุดแบ่งพรมแดนระหว่างประเทศเนปาลและทิเบต โดยชาวเนปาลเรียกยอดเขาเอเวอเรสต์ว่า สครมาถา (ภาษาสันสกฤต: सगरमाथा หมายถึง หน้าผากแห่งท้องฟ้า) ส่วนชาวทิเบตขนานนามยอดเขาแห่งนี้ว่า โชโมลังมา (จากภาษาจีน: 珠穆朗玛 [จูมู่หลั่งหม่า] หมายถึง มารดาแห่งสวรรค์)
ชื่อยอดเขาเอเวอเรสต์นั้น ตั้งโดย เซอร์แอนดรูว์ วอ นักสำรวจประเทศอินเดียชาวอังกฤษ เพื่อเป็นเกียรติแก่ เซอร์จอร์จ อีฟเรสต์ นักสำรวจประเทศอินเดียรุ่นก่อนหน้า (คำว่า Everest นี้ คนส่วนมากอ่านออกเสียงเป็น เอเวอเรสต์ ขณะที่เซอร์จอร์จอ่านออกเสียงชื่อสกุลของตัวเองว่า อีฟเรสต์) ซึ่งก่อนหน้านั้นนักสำรวจเรียกยอดเขาแห่งนี้เพียงว่า ยอดที่สิบห้า (Peak XV)
คนทั่วไปจดจำชื่อเอเวอเรสต์ได้ในฐานะยอดเขาที่สูงที่สุดในโลก แต่สำหรับชาวเชอร์ปา(Sherpa) และนักปีนเขา(climber) บางคนแล้ว ยอดเขาเอเวอเรสต์ไม่ได้เป็นเพียงแค่จุดที่สูงที่สุดบนพื้นโลกเท่านั้น หากยังเป็นจุดหมายสูงสุดในชีวิตพวกเขาด้วย การไปให้ถึงยอดเขาเอเวอเรสต์เป็นเรื่องที่ยากลำบาก แต่เมื่อยอดเขาเอเวอเรสต์ถูกพิชิตได้ นั่นหมายความว่าขีดจำกัดของมนุษยชาติได้เพิ่มขึ้นอีกขั้นหนึ่งแล้ว
 

 ที่สุดของความสูง

เมื่อปี ค.ศ. 1952 รัฐนาถ สิกดาร์(Radhanath Sikdar) นักคณิตศาสตร์และนักสำรวจจากเบงกอล(Bengal) เป็นคนแรกที่ประกาศว่าเอเวอเรสต์คือยอดเขาที่สูงที่สุดในโลก จากการคำนวณทางตรีโกณมิติ โดยอาศัยข้อมูลที่วัดด้วยกล้องส่องแนว(theodolite) ในที่ที่ไกลจากยอดเขาไป 150 ไมล์ ณ ประเทศอินเดีย
ในวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2548 ทางการจีนได้ส่งคณะเดินทางสำรวจไปที่ยอดเขา เพื่อคำนวณความสูงของยอดเขา ในวันที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2548 สำนักงานสำรวจและทำแผนที่แห่งชาติจีน ได้ทำการวัดครั้งล่าสุด พบว่ายอดเขาเอเวอเรสต์มีความสูง 8,844.43 เมตร (29,017 ฟุต 2 นิ้ว) และอาจมีการคลาดเคลื่อนจากการวัดเล็กน้อย
ในปี ค.ศ. 1956 ยอดเขาเอเวอเรสต์วัดความสูงได้ 29,002 ฟุต ต่อมาในช่วงทศวรรษ 1950 การวัดทำได้แม่นยำขึ้น และให้ความสูง 29,028 ฟุต หรือ 8,848 เมตร ซึ่งตัวเลขนี้ถือเป็นความสูงของยอดเขาเอเวอเรสต์ที่ใช้อ้างถึงโดยทั่วไป และได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการจากรัฐบาลเนปาล อย่างไรก็ดี จากการติดตั้งเครื่องมือที่ยอดเขาของทีมสำรวจสหรัฐอเมริกา ในปี ค.ศ. 1999 และทำการวัดความสูงด้วยจีพีเอส (Global Positioning System) แล้ว พบว่าความสูงที่แท้จริงของยอดเขาเอเวอเรสต์ในขณะนั้นคือ 29,035 ฟุต หรือ 8,850 เมตร ทั้งนี้ยอดเขาเอเวอเรสต์เป็นยอดเขาใหม่ที่เกิดขึ้นเพียงไม่กี่แสนปี จึงยังคงสูงขึ้นเรื่อย ๆ ปีละไม่กี่เซนติเมตร เนื่องจากการที่แผ่นเปลือกโลก(Tectonic plate) ยังคงชนกันอยู่
ยอดเขาเอเวอเรสต์เป็นยอดเขาที่สูงที่สุดเมื่อวัดจากระดับน้ำทะเล แต่ก็ยังกล่าวได้ไม่เต็มปากเต็มคำนักว่ายอดเขาเอเวอเรสต์เป็น ยอดเขาที่สูงที่สุดในโลก เนื่องจากมีอีกสองยอดเขาที่ดูจะสูงกว่ายอดเขาเอเวอเรสต์ เมื่อใช้เกณฑ์การวัดที่ต่างกัน ยอดเขาแรกคือ ยอดเขาเมานาโลอา(Mauna Loa) ในหมู่เกาะฮาวาย ซึ่งถ้าวัดความสูงจากฐานที่จมอยู่ในทะเลแล้วจะพบว่ายอดเขานี้สูงกว่า 9 กิโลเมตร เลยทีเดียว แต่เมื่อวัดความสูงจากระดับน้ำทะเล ยอดเขาเมานาโลอาจะสูงเพียง 13,680 ฟุต หรือ 4,170 เมตรเท่านั้น อีกยอดเขาหนึ่งคือ ยอดเขาชิมโบราโซ(Mount Chimborazo) ในประเทศเอกวาดอร์ ที่ถ้าวัดจากจุดศูนย์กลางโลกแล้วจะสูงกว่ายอดเขาเอเวอเรสต์ 2,150 เมตร ทั้งนี้เพราะโลกมีลักษณะป่องตรงกลาง แต่เมื่อวัดความสูงจากระดับน้ำทะเล ยอดเขาชิมโบราโซมีความสูง 6,272 เมตร
เป็นที่น่าสังเกตว่าจุดที่ลึกที่สุดในมหาสมุทร มีความลึกมากกว่าความสูงของยอดเขาเอเวอเรสต์ โดยร่องลึกแชลเลนเจอร์(Challenger Deep)ในร่องลึกบาดาลมาเรียนา(Mariana Trench) นั้นลึกมากเสียจนถ้าวางยอดเขาเอเวอเรสต์ลงไป ยอดเขาเอเวอเรสต์จะยังคงจมอยู่ในน้ำเป็นระยะทางเกือบไมล์

 การพิชิตยอดเขา

 
ภาพภูเขาเอเวอเรสต์ในมุมกว้าง
ประวัติการเดินทางขึ้นสู่ยอดเขาเอเวอเรสต์เริ่มขึ้นในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20
  • ในปี ค.ศ. 1922 นักปีนเขาชาวเชอร์ปาเจ็ดคนเสียชีวิตจากหิมะถล่ม(avalanche) นับเป็นครั้งแรกของการเสียชีวิตบนยอดเขาเอเวอเรสต์ที่ถูกบันทึกไว้ ในปีเดียวกันนี้ คณะเดินทางจากอังกฤษคณะที่สองได้ไต่ขึ้นสู่ระดับความสูง 8321 เมตร
  • ในปี ค.ศ. 1924 คณะเดินทางจากอังกฤษคณะที่สามเดินทางเข้าใกล้ยอดเขาเอเวอเรสต์ จอร์จ มัลลอรี(George Mallory) และ แอนดรู เออร์ไวน์(Andrew Irvine) ตัดสินใจเดินทางขึ้นสู่ยอดเขา การเดินทางของเขาทั้งสองในครั้งนี้เป็นการเดินทางที่ไม่มีวันหวนกลับ วันที่ 8 มิถุนายน เวลา 12.50 น. นักเดินทางคนอื่น ๆ เห็นทั้งสองอยู่ไม่ไกลจากยอดเขา จากนั้นมีเมฆลอยมาปกคลุม และไม่มีใครเห็นทั้งสองคนนี้อีกเลย ในปี ค.ศ. 1979 หวังฮงเป่า(Wang Hongbao) นักปีนเขาชาวจีนบอกกับเพื่อนร่วมทางว่าเขาพบศพศพหนึ่งในปี ค.ศ. 1975 และนั่นน่าจะเป็นศพของเออร์ไวน์ แต่โชคไม่ดีที่หวังฮงเป่าตกเขาเสียชีวิตไปก่อนที่จะได้บอกอะไรเพิ่มเติม ในปี ค.ศ. 1999 คณะเดินทางวิจัยมัลลอรี-เออร์ไวน์(Mallory and Irvine Research Expedition) ได้พบศพของมัลลอรีใกล้แคมป์จีนเก่า ส่วนศพของเออร์ไวน์นั้น แม้จะมีการค้นหาอย่างหนักหน่วงในปี ค.ศ. 2004 แต่ก็ยังไม่พบ
เป็นที่ถกเถียงกันในหมู่นักปีนเขาว่ามัลลอรีและเออร์ไวน์ได้พิชิตยอดเขาเอเวอเรสต์แล้วหรือไม่ นักปีนเขาส่วนใหญ่ไม่เชื่อว่ามัลลอรีและเออร์ไวน์ได้ไปถึงยอดเขาเอเวอเรสต์ เนื่องจากไม่มีหลักฐานว่าทั้งคู่ได้ไปถึงหินขั้นที่สอง (การไปถึงยอดเขาเอเวอเรสต์จากทางด้านเหนือต้องผ่านหินสามขั้น) แต่นักปีนเขาทั้งหลายเชื่อว่าถ้าทั้งคู่ผ่านตรงนี้ไปได้ การไปถึงยอดเขาก็ไม่ใช่เรื่องลำบาก เพราะไม่มีอุปสรรคใหญ่ใดๆ อีกแล้ว
ในระยะแรก การเดินทางขึ้นสู่ยอดเขาใช้เส้นทางด้านเหนือจากดินแดนจีนทิเบต แต่เส้นทางนี้ได้ปิดตัวลงในปี ค.ศ. 1950 หลังจากประเทศจีนเข้ายึดครองทิเบต ในขณะที่ประเทศเนปาล ได้เริ่มเปิดประเทศให้คนภายนอกเดินทางเข้าประเทศได้ในปี ค.ศ. 1949
  • ในปี ค.ศ. 1951 คณะเดินทางจากอังกฤษเดินทางเข้าสู่ประเทศเนปาลเพื่อสำรวจเส้นทางปีนเขาเส้นใหม่ที่อยู่ด้านใต้ของเทือกเขา
  • ในปี ค.ศ. 1952 คณะเดินทางจากประเทศสวิตเซอร์แลนด์ พยายามขึ้นสู่ยอดเขาจากทางด้านใต้ โดยอาศัยข้อมูลของคณะเดินทางจากอังกฤษ ซึ่งทีมของ เรย์มอนด์ แลมเบิร์ต(Raymond Lambert) และ เตนจิง นอร์เก เกือบจะขึ้นสู่ยอดเขาได้ แต่ต้องถอยกลับเสียก่อนขณะที่เหลือระยะทางอีก 200 เมตรเท่านั้น ในฤดูใบไม้ร่วงปีเดียวกัน คณะเดินทางจากสวิสได้พยายามอีกครั้ง แต่ก็ไต่ได้ในระดับที่ต่ำกว่าเดิม
  • ในปี ค.ศ. 1953 คณะเดินทางจากอังกฤษนำทีมโดย จอห์น ฮันต์(John Hunt) ได้กลับมาที่ประเทศเนปาล และพยายามขึ้นสู่ยอดเขาเอเวอเรสต์อีกครั้ง เมื่อคณะเดินทางไต่ขึ้นใกล้ยอดเขา จอห์น ฮันต์ ได้เลือกนักปีนเขาหนึ่งคู่ให้ไต่ขึ้นไปสู่ยอดเขา แต่นักปีนเขาคู่นี้อ่อนแรงเสียก่อน และไม่สามารถขึ้นไปสู่ยอดเขาได้ ในวันถัดมา จอห์น ฮันต์ เลือกนักปีนเขาอีกคู่หนึ่งคือ เอดมันด์ ฮิลลารี ชาวนิวซีแลนด์ และ เทียนซิง นอร์เก ชาวเชอร์ปาร์ นักปีนเขาคู่นี้เองที่พิชิตยอดเขาเอเวอเรสต์ลงได้เป็นครั้งแรก เมื่อเวลา 11.30 น. ตามเวลาท้องถิ่น ของวันที่ 29 พฤษภาคม ค.ศ. 1953 ที่ยอดเขาทั้งสองได้หยุดพักถ่ายรูป รวมทั้งฝังลูกอมและไม้กางเขนเล็ก ๆ ไว้ในหิมะก่อนจะเดินทางกลับ
ข่าวความสำเร็จของคณะเดินทางไปถึงลอนดอน ในเช้าวันที่สมเด็จพระราชินีนาถอลิซาเบธที่สองขึ้นครองราชย์ และหลังจากที่ เอ็ดมันด์ ฮิลลารี และ จอห์น ฮันต์ กลับมายังกาฐมัณฑุ ทั้งสองก็ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นอัศวิน เพื่อเป็นเกียรติแก่ความพยายามและความสำเร็จในครั้งนี้
แม้ยอดเขาเอเวอเรสต์จะถูกพิชิตลงได้อย่างเป็นทางการ แต่มนต์ขลังของยอดเขาแห่งนี้ก็ใช่ว่าจะหมดไป นักปีนเขาทั้งหลายทั่วทุกสารทิศจากทุกมุมโลกต่างก็อยากพิชิตยอดเขาเอเวอเรสต์ให้ได้ซักครั้งในชีวิต นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1953 เป็นต้นมา ความพยายามในการขึ้นไปสู่ยอดเขาเอเวอเรสต์ครั้งสำคัญๆ มีดังนี้
  • ในปี ค.ศ. 1960 วันที่ 25 พฤษภาคม นักปีนเขาชาวจีนสามารถขึ้นถึงยอดเขาเอเวอเรสต์ได้โดยใช้เส้นทางด้านเหนือ
  • ในฤดูกาลปีนเขาปี ค.ศ. 1996 มีผู้เสียชีวิตจากการปีนยอดเขาเอเวอเรสต์ทั้งหมด 15 คน นับว่าเป็นปีที่มีผู้เสียชีวิตจากการปีนเขามากที่สุด โดยในวันที่ 10 พฤษภาคม ได้เกิดพายุขึ้นและคร่าชีวิตนักปีนเขาไปทั้งหมด 8 คน ในจำนวนนี้รวมถึง ร็อบ ฮอลล์(Rob Hall) และ สก็อต ฟิชเชอร์(Scott Fischer) สองนักปีนเขาผู้มากประสบการณ์ผู้ถูกจ้างให้นำทางคณะสำรวจ อย่างไรก็ตาม สองผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์ครั้งนี้ คือ จอน คราเคอร์(Jon Krakauer) และ เบค เวเธอร์ส(Beck Weathers) ได้กลับมาเขียนหนังสือเล่าประสบการณ์เฉียดตายในครั้งนั้น โดย จอน คราเคอร์ เขียนหนังสือ Into Thin Air และกลายเป็นหนังสือขายดี(bestseller) ในเวลาต่อมา ส่วน เบค เวเธอร์ส ออกหนังสือชื่อ Left for dead
ในปีเดียวกันนั้นเองที่ เดวิด เบรเชียร์ส นักปีนเขาและนักถ่ายทำภาพยนตร์(filmmaker) ได้ถ่ายทำภาพยนตร์ไอแมกซ์ที่ยอดเขาเอเวอเรสต์ โดยคณะถ่ายทำของเบรเชียร์สอยู่ที่นั่นหลายสัปดาห์และมีโอกาสพบผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์ 10 พฤษภา นอกจากนี้ คณะของเบรเชียร์สยังมี จัมลิง เตนจิง นอร์เกย์(Jamling Tenzing Norgay) ซึ่งเป็นลูกชายของ เตนจิง นอร์เกย์ และสามารถพิชิตยอดเขาเอเวอเรสต์ได้พร้อมคณะของเบรเชียร์ส เจริญรอยตามผู้เป็นพ่อ
เมื่อจบฤดูกาลปีนเขาปี ค.ศ. 2001 มีผู้พิชิตยอดเขาเอเวอเรสต์ได้แล้วทั้งหมด 1491 คน และมีผู้เสียชีวิตจากการปีนเขาทั้งหมด 172 คน กล่าวได้ว่าที่ยอดเขาเอเวอเรสต์แห่งนี้เป็นที่ที่มีทั้งชีวิตและความตาย ความสำเร็จและความล้มเหลว อย่างไรก็ตาม ยอดเขาเอเวอเรสต์ก็ยังคงเป็นสถานที่ที่ท้าทายนักปีนเขาต่อไป

 ความพยายามพิชิตยอดเขาโดยคนไทย

 
วิทิตนันท์ โรจนพานิช คนไทยคนแรกที่สามารถพิชิตยอดเขาเอเวอร์เรสต์สำเร็จ เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2551 เวลา 8:00 น.
ในปี พ.ศ. 2550 สถานีโทรทัศน์ทีไอทีวี กรมประชาสัมพันธ์ และกองทัพเรือไทย ได้ร่วมมือจัดโครงการส่งนักปีนเขาชาวไทยขึ้นไปพิขิตยอดเขาเอเวอเรสต์ ในนามโครงการ TITV The Everest: The Unlimited Spirit of Thailand 2007 โดยมีกำหนดที่จะพิชิตยอดเขาให้ได้ในฤดูใบไม้ร่วง (ราวเดือนตุลาคม) ของปี พ.ศ. 2550 เพื่อให้ทันกับงานพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษาของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชในปีนั้น แต่ความพยายามครั้งนี้ไม่ประสบความสำเร็จเนื่องจากปัญหาสภาพอากาศเลวร้าย ทีมนักปีนเขาของไทยต้องยอมกลับลงมาหลังจากปีนขึ้นไปถึงระดับความสูงประมาณ 8,500 เมตร ถือได้ว่าเป็นคนไทยกลุ่มแรกที่ปีนเอเวอเรสต์ขึ้นไปได้สูงเกิน 8,000 เมตร (ก่อนหน้านี้มีคนไทยที่สามารถปีนเขาเอเวอร์เรสต์ขึ้นไปถึงระดับ 7,000 เมตร เมื่อปี พ.ศ. 2540 คือ กิ่งแก้ว บัวตูม)
ทีมนักปีนชาวไทยในชุดนี้มีทั้งหมด 9 คน ประกอบด้วย นักปีนเขาและนักเขียนสารคดี 1 คน (อนุกูล สอนเอก) ทหารเรือ 3 คน (เรือตรีไพรัตน์ พลายงาม พันจ่าเอกเทพบุตร กิมจันทร์ และเรือโทภิญโญ รุ่งเรือง) และเจ้าหน้าที่และนักข่าวจากสถานีโทรทัศน์ทีไอทีวีอีก 5 คน (ดิลก ตามใจเพื่อน, กิตติ จันทร์เจริญ, พิทักษ์ จุลาภา, สุธน ยิ้มดี และวันเพ็ญ สินธุวงษ์)
คนไทยที่สามารถพิชิตยอดเขาเอเวอร์เรสต์สำเร็จเป็นคนแรกคือ นายวิทิตนันท์ โรจนพานิช ซึ่งสามารถพิชิตยอดเขาได้เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2551 เวลา 8:00 น. ตามเวลาท้องถิ่นเนปาล ร่วมกับนักปีนเขาชาวเวียดนาม 3 คนจากรายการเรียลลิตี้โชว์ "Conquering Mount Everest 2008" ของสถานีโทรทัศน์วีทีวี ประเทศเวียดนาม (ได้แก่ Phan Thanh Nhien, Bui Van Neogi, Nguyen Mau Linh)

 ความเชื่อ

ก่อนปีนยอดเขาเอเวอเรสต์ ชาวเนปาลจะเพื่อจัดพิธีบวงสรวงเทพยดาแห่งขุนเขา ซึ่งเป็นการขอขมาและบูชาเทพธิดา "สักการะมาถา" ซึ่งเป็นชื่อของยอดเขาเอเวอเรสต์ แปลว่า พระแม่ผู้เป็นเจ้า

ที่มา....http://th.wikipedia.org/wiki

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น